วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

พิพิธภัณฑ์บุคคลสำคัญ>>พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระราชวังสนามจันทร์
พระราชวังแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นตั้งแต่ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อวันที่ 7มิถุนายน พ.ศ.2466 โปรดเกล้าฯให้ทำพิธียกพระมหาเศวตฉัตร ขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นรัตนสิงหาสน์ ภายในพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ การสร้างพระราชวังแห่งนี้ทรงมีแรงบันดาลพระทัยจากการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ และยังทรงเล็งเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิที่ดีเหมาะแก่การต้านทานข้าศึกจากทางน้ำ โดยทรงตั้งพระทัยว่าจะสร้างขึ้นไว้เพื่อเป็นเมืองหลวงที่สองหากประเทศชาติประสบปัญหาวิกฤติ พระราชวังสนามจันทร์มีอาณาเขตกว้างขวางประกอบด้วย พระที่นั่งต่างๆดังนี้ “พระที่นั่งพิมานปฐม” เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นและทรงใช้เป็นที่ประทับก่อนเสด็จฯขึ้นครองราชย์ “พระที่นั่งวัชรีรมยา” เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ครบถ้วน “พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์” มีโถงใหญ่และหลังคาเชื่อมต่อจากพระที่นั่งวัชรรีรมยา เป็นศาลาโถงทรงไทย ยกสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตรมีอัฒจันทร์ลงสองข้าง พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ออกงานสโมสรสันนิบาต ท้องพระโรงเวลาเสด็จออกขุนนางและยังใช้เป็นโรงละครสำหรับแสดงโขน จนชาวบ้านเรียกติดปากว่า “โรงโขน” “พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์” เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ของฝรั่งเศสกับ อาคารแบบฮาร์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษ เคยใช้เป็นสำนักพิมพ์ชั่วคราวในการออกหนังสือพิมพ ์ดุสิตสมิตรายสัปดาส์ “พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์” เป็นเรือนไม้สักทอง 2 ชั้น แบบตะวันตก ทาสีแดงลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ “พระตำหนักทับขวัญ” เป็นเรือนไทยภาคกลางที่สมบูรณ์แบบ โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น เพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณ พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์“พระตำหนักทับแก้ว” เป็นที่ประทับในฤดูหนาว ปัจจุบันนี้ใช้เป็นบ้านพักของปลัดจังหวัดนครปฐม อนึ่งที่ดินด้านหลังพระตำหนักทับแก้ว 450 ไร่นั้นได้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันนี้พระราชวังสนามจันทร์บางส่วนอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยศิลปากรและจังหวัดนครปฐม

ประวัติความเป็นมา :-

พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ห่างจากกรุงเทพฯ ลงไปทางใต้ 56 กิโลเมตร บริเวณที่เป็นพระราชวังสนามจันทร์ อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางตะวันตก ประมาณ 1 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณซึ่งเดิมเรียกว่า " เนินปราสาท " สันนิษฐานว่า เดิมคงเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ในสมัยโบราณ ใกล้กับเนินปราสาทมีสระน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันมาแต่เดิมว่า " สระน้ำจันทร์ " ( ปัจจุบันชาวบ้าน เรียกว่า สระบัว ) อยู่หน้าโบสถ์พราหมณ์ ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชฯ มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังที่ประทับขึ้น ณ เมืองนครปฐม สำหรับเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในโอกาสเสด็จฯ มาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ และเพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ทรงเลือกจังหวัดนครปฐม ด้วยเหตุที่ทรงคุ้นเคยกับภูมิประเทศของเมืองนี้ ทรงเห็นว่าบริเวณเนินปราสาทนั้นเป็นทำเลที่เหมาะ จึงทรงขอซื้อที่ดินจากราษฎรที่อยู่รอบๆ เนินปราสาท เพื่อจัดสร้างพระราชวังขึ้น รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิทักษ์มานพ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนยศเป็น พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ ( น้อย ศิลปี ) เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2450 ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การก่อสร้างพระที่นั่ง และพระตำหนักต่างๆ ได้ดำเนินการติดต่อกันนานถึง 4 ปี จึงแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า " พระราชวังสนามจันทร์ "


พระราชวังสนามจันทร์ นอกจากเป็นที่แปรพระราชฐานแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระราชดำริในการสร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้เป็นที่มั่น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับวิกฤตการณ์ของประเทศอันเกิดขึ้นได้ เพราะพระราชวังสนามจันทร์ตั้งอยู่ในชัยภูมิทีเหมาะสม และทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับซ้อมรบเสือป่า

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 คณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธาน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย นายนาวิน ขันธหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ลิขิต กาญจนาภรณ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายคืนพระราชวังสนามจันทร์ โดยส่งมอบพระที่นั่ง พระตำหนักต่างๆ และเรือนข้าราชบริพาร คืนให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ดูแลตามพระราชดำริในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปัจจุบันสำนักพระราชวังได้เปิดให้เข้าชม พระที่นั่งพิมานปฐมและห้องพระเจ้าภายในพระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เทวาลัยคเณศร์ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ พระตำหนักทับขวัญและอนุสาวรีย์ย่าเหล

สถานที่น่าสนใจในพระราชวังสนามจันทร์..

1. พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2450 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก แต่ดัดแปลงให้เหมาะกับเมืองร้อน ช่องระบายลมและระเบียงลูกกรงโดยรอบฉลุ สลัก เป็นลวดลายตามแบบไทยอย่างปราณีตงดงาม พระที่นั่งชั้นบนประกอบด้วยห้องต่างๆ ซึ่งยังมีป้ายชื่อ ปรากฎอยู่จวบจนปัจจุบัน คือ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา ห้องเสวย และห้องพระเจ้า ซึ่งเป็นหอพระ มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาอยู่องค์หนึ่ง และยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ พระยาอนุศาสน์จิตรกร ( จันทร์ จิตรกร ) ซึ่งงดงามน่าชมมาก

พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับ (โดยเฉพาะก่อนเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชย์สมบัติ จนถึงปีพุทธศักราช 2458 ) ที่ทรงพระอักษร ที่เสด็จออกขุนนาง ที่รับรองพระราชอาคันตุกะ และออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ มากกว่าพระที่นั่ง และพระตำหนักองค์อื่นๆ

2. พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นพระที่นั่งที่เชื่อมต่ออยู่กับพระที่นั่งวัชรีรมยา โดยมีโถงใหญ่และหลังคาของพระที่นั่งทั้งสององค์เชื่อมติดต่อกัน เครื่องประดับตกแต่งหลังคาเหมือนกัน แต่องค์พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์เป็นพระที่นั่งทรงไทยแบบศาลาโถงองค์ใหญ่ชั้นเดียว หน้าบันอยู่ทางทิศเหนือเป็นรูปจำหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพร ประทับอยู่ในพิมานปราสาทสามยอด พระหัตถ์ขวาทรงวชิระ พระหัตถ์ซ้ายประทานพร แวดล้อมด้วยบริวาร ประกอบด้วยเทวดาและมนุษย์ห้าหมู่

พระที่นั่งองค์นี้ทรงใช้เป็นที่ออกงานสโมสรสันนิบาต เสด็จฯ ออกขุนนางเพื่อปรึกษาหารือข้อราชการ เป็นที่อบรมกองเสือป่า และใช้เป็นที่แสดงโขนละครต่างๆ พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์เป็นพระที่นั่งที่กว้างขวางจุคนได้มากจึงมีชื่อเรียกติดปากชาวบ้านว่า " โรงโขน " เดิมเคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระมหาเศวตฉัตรมาประดิษฐานไว้ภายใน

3. พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักที่มีลักษณะคล้ายปราสาทขนาดย่อม ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ ( Renaissance ) ของฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟทิมเบอร์ ( Half Timbered ) ของอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ขึ้นราวปีพุทธศักราช 2450 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ

ในปีพุทธศักราช 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักว่า " พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ " และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น ทาสีขี้ไก่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรง ชั้นล่างทางทิศตะวันตกเป็นห้องรอเฝ้าฯ และเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวในการออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นที่ประทับในฐานะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการเสือป่า เมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์ และพระองค์โปรดที่จะประทับ ตลอดช่วงปลายรัชกาล เมื่อเสด็จฯ ยังพระราชวังสนามจันทร์

4. พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ของประเทศทางตะวันตก แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศแบบเมืองร้อน พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานจากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ สะพานดังกล่าวหลังคามุงกระเบื้อง และติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้านตลอดความยาวของสะพานที่เชื่อมติดต่อถึงกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ ในราวปีพุทธศักราช 2459 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ และฉนวนสะพานเชื่อมพระตำหนัก เป็นกลุ่มอาคารที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทละครเรื่อง " My Friend Jarlet " ของ " Arnold Golsworthy " และ " E.B. Norman " ซึ่งทรงแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยชื่อว่า " มิตรแท้ " โดยทรงนำชื่อตัวละครในเรื่องมาเป็นชื่อของพระตำหนัก

5. อนุสาวรีย์ย่าเหล
" ย่าเหล " เป็นสุนัขพันธุ์ทางหางเป็นพวง สีขาวด่างดำ หูตก เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม เป็นสุนัขของหลวงชัยอาญา ( โพธิ์ เคหะนันท์ ) ซึ่งเป็นพะทำมะรง ( ผู้ควบคุมนักโทษ ) อยู่ในขณะนั้น ( ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพุทธเกษตรานุรักษ์ ) เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ตรวจเรือนจำ ทอดพระเนตร " ย่าเหล " ซึ่งเป็นลูกสุนัข ก็ตรัสชมว่าน่าเอ็นดู ต่อมาหลวงชัยอาญา จึงน้อมเกล้าฯ ถวาย จึงทรงรับมาเลี้ยงและพระราชทานนามว่า " ย่าเหล "

" ย่าเหล " ได้รับการเลี้ยงดูอยู่ในราชสำนักใกล้ชิดพระยุคลบาท มีความเฉลียวฉลาด และมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นที่โปรดปรานของพระองค์เป็นอย่างมาก

คืนหนึ่ง " ย่าเหล " ได้หนีออกมาเที่ยวตามวิสัยสัตว์ และได้กัดกับสุนัขอื่นในบริเวณกรมทหาร มหาดเล็กรักษาพระองค์ ( ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมการรักษาดินแดน ) และพลัดถูกลูกกระสุน ซึ่งทหารผู้หนึ่งได้ยิงปืนออกมา เมื่อได้ยินเสียงสุนัขกัดกัน และไม่ทราบว่ากระสุนได้พลัดไปถูกย่าเหล

การสูญเสีย " ย่าเหล " สุนัขที่โปรดปรานในครั้งนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เศร้าสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพ " ย่าเหล " เป็นอย่างดี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง " อนุสาวรีย์ย่าเหล " ขึ้นด้วยโลหะทองแดง ณ บริเวณด้านหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และทรงพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัย ซึ่งออกมาจากความรู้สึกส่วนลึกของพระราชหฤทัยของพระองค์ จารึกไว้บนแผ่นทองแดงใต้อนุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย

6. เทวาลัยคเณศร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นศาลเทพารักษ์สำหรับพระราชวังสนามจันทร์ เป็นที่ประดิษฐานพระคเณศร์ หรือพระพิฆเนศวร เทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้าง ซึ่งเป็นเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ การประพันธ์และเป็นผู้ขจัดอุปสรรคทั้งมวล เทวาลัยคเณศร์ตั้งอยู่ที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดศิลปวิทยาการ และการประพันธ์เป็นพิเศษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวาลัยคเณศร์ไว้ ณ ที่อันเป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์ สำหรับบวงสรวง และเพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งพระราชวังสนามจันทร์ และเมื่อมองจาก พระที่นั่งพิมานปฐมจะเห็นพระปฐมเจดีย์ เทวาลัยคเณศร์และพระที่นั่งพิมานปฐมอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน

7. พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไทยที่สมบูรณ์แบบ นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างคือ พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ ( น้อย ศิลปี ) พระตำหนักทับขวัญประกอบด้วย กลุ่มเรือน 8 หลัง ได้แก่ เรือนใหญ่ 4 หลัง เรือนเล็ก 4 หลัง ซึ่งได้สร้างให้หันหน้าเข้าหากัน 4 ทิศ เรือนหลังใหญ่เป็นหอนอน 2 หอ ( ห้องบรรทมเป็นหอนอนที่อยู่ทางทิศใต้ ) อีก 2 หลังเป็นเรือนโถง และเรือนครัวซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนเรือนเล็ก 4 หลังนั้นตั้งอยู่ตรงมุม 4 มุมและ 1 หลัง ได้แก่ หอนก 2 หลัง เรือนคนใช้ และเรือนเก็บของ เรือนทุกหลังมีชานเรือนเชื่อมกันโดยตลอด บริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันไว้ให้ร่มเงา

พระตำหนักทับขวัญเป็นเรือนไม้กระดาน ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกนกรอบลูกฟัก ฝีมือประณีต เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม หลังคาแต่เดิมมุงด้วยจาก หลบหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา ตัวเรือนทุกหลังรวมทั้งพื้นนอกชานทำด้วยไม้สักล้วน ใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับของชาวไทยโบราณ รอบๆ บริเวณปลูกไม้ไทยชนิดต่างๆ นับเป็นเรือนที่อยู่ในประเภทเรือนคหบดีและมีส่วนประกอบครบ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2454 พระองค์ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักทับขวัญนี้เป็นเวลา 1 คืน และเมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์ " "

การเดินทาง :-

ทางรถยนต์ :-
จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนเพชรเกษม ( ทางหลวงหมายเลข 4 ) มุ่งหน้าสู่จังหวัดนครปฐม หรือ
จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนสายปิ่นเกล้า - นครชัยศรี ( ทางหลวงหมายเลข 338 ) มุ่งหน้าสู่นครปฐม

ทั้งสองเส้นทางด้านบนจะต้องผ่านแยกนครชัยศรี จากแยกนครชัยศรี ขับตรงไปประมาณ 8.5 กิโลเมตร จะถึงแยกบ้านแพ้ว ( ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปบ้านแพ้ว ถ้าตรงไปจะไปนครปฐม ราชบุรี ) ให้ขับตรงไปอีกประมาณ 500 เมตร จะพบสะพานไปตัวเมืองนครปฐม ให้ขับขึ้นสะพาน (ถ้าตรงไปจะไปราชบุรี ) หลังจากขึ้นสะพานแล้วให้ขับตรงไปอีกประมาณ 3.4 กิโลเมตร จะพบ 4 แยกไฟแดง (ถ้าตรงไปก็คือ องค์พระปฐมเจดีย์ ถ้าเลี้ยวขวาจะเข้าไปยังตลาดนครปฐม ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปจังหวัดสุพรรณบุรี ) ให้ท่านเลี้ยวซ้าย แล้วขับตรงไปประมาณ 200 เมตร จากนั้นเลี้ยวขวา แล้วขับตรงไปประมาณ 1.9 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาที่ไฟแดง เลี้ยวขวาแล้วให้ขับตรงไปประมาณ 400 เมตร ก็จะถึง พระราชวังสนามจันทร์

ทางรถโดยสารประจำทาง :-
จากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ นั่งรถสายกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี ไปลงที่ มหาลัยศิลปากร (นครปฐม)จากนั้นเดินเท้าประมาณ 400 เมตร จะถึง พระราชวังสนามจันทร์

ไม่มีความคิดเห็น: