วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์>>บ้านพิพิธภัณฑ์



บ้านพิพิธภัณฑ์


บ้านพิพิธภัณฑ์ดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ โดยสมาคมกิจวัฒนธรรมและอาสาสมัคร ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2544

คำว่าบ้านพิพิธภัณฑ์ หรือ House of Museums หมายถึงบ้านที่รวบรวมของต่างๆโดยหวังว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดพิพิธภัณฑ์แขนงต่างๆ ขึ้นอีกต่อไป

เรื่องราวที่จัดแสดง คือวิถีชีวิตชาวตลาดชาวเมืองในยุค 2500 และใกล้เคียง

ของที่จัดแสดง ส่วนใหญ่มาจากการบริจาค (ฉะนั้นแต่ละหมวดจึงไม่ได้มีของสมบูรณ์ทุกยุคทุกสมัย) อีกส่วนหนึ่งมาจากการซื้อด้วยเงินรายได้เท่าที่พอมี เพื่อให้มีของแปลกๆ มาเสริมให้ผู้ชมได้ดูของมากขึ้นเรื่อยๆ

เหตุที่จัดทำบ้านพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาก็เพราะเห็นว่าของดีจำนวนมากถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ในขณะที่เราไม่สามารถหาชมของจำพวกนี้ เช่น ตู้โต๊ะตั่งเตียงสวยๆ, แบบเรียน, ป้ายโฆษณา, ขวดน้ำอัดลม, แก้วน้ำ, ชามก๋วยเตี๋ยว, กล้องถ่ายรูป, ของแถม,ของเล่น, กระบอกเสียง ฯลฯ ได้จากพิพิธภัณฑ์ทั่วไป เพื่อให้มีแหล่งรับบริจาคและเก็บของ (ซึ่งจริงๆ แล้วรัฐควรเป็นผู้จัดทำทั้ง 4 ภาคหรือทุกจังหวัด) สมาคมกิจวัฒนธรรมจึงลงมือทำไปตามกำลังก่อนดังที่เห็น

“บ้านพิพิธภัณฑ์” เป็นบ้านของส่วนรวมหรือของสาธารณะ แทบทุกอย่างมาจากการบริจาค เริ่มตั้งแต่ที่ดิน 58 ตารางวา จาก ร.อ.อาลักษณ์ อนุมาศ, การออกแบบก่อสร้างอาคาร, การออกแบบห้องแสดง, ข้าวของที่นำมาจัดแสดง และที่สุดคือกรรมการซึ่งสละเวลามาช่วยกันทำงานเพื่อส่วนรวมโดยไม่มีเงินเดือน

สมาคมกิจวัฒนธรรมซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2532 ปัจจุบัน พ.ศ.2550 มี ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เป็นนายกสมาคม

การจัดแสดง..

เดิมบ้านพิพิธภัณฑ์มี 1 หลัง ปัจจุบันมี 2 หลัง
แนวการออกแบบหรือจัดแสดง คือ กั้นห้องเป็นเหมือนห้องแถวในตลาด

บ้านพิพิธภัณฑ์หลังที่ 1
ชั้น 1 จัดเป็นร้านของเล่น, ร้านขายของจิปาถะ, ร้านขายยา และร้านขายของที่ระลึก

ชั้น 2 จัดเป็นโรงหนัง โรงพิมพ์ในตรอกข้างโรงหนัง ร้านตัดผม-ตัดเสื้อ ร้านให้เช่าหนังสือนิยาย ร้านถ่ายรูป, ห้องครัว, บ้านสุวัตถี และห้องจัดแสดงของทั่วไป

ชั้น 3 จัดเป็นห้องเรียน ห้องนายอำเภอ ร้านขายแผ่นเสียง วิทยุโทรทัศน์ ร้านทองและร้านสรรพสินค้า

บ้านพิพิธภัณฑ์หลังที่ 2 มีชั้นเดียว สมมุติเป็นตลาดริมน้ำมีนอกชาน สร้างม้านั่งไว้ให้นั่งเล่นกันหน้าร้านกาแฟ, ร้านขายของชาวบ้าน, นอกจากนั้นมีร้านทำฟัน, ร้านขายเครื่องเขียนแบบเรียน, ร้านทอง และแผงหนังสือข้างร้านทอง เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่ปลายปี 2549

ไม่มีความคิดเห็น: