พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระราชวังจันทรเกษม
ประวัติ..
พระราชวังจันทรเกษม ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก (คลองคูขื่อหน้า) ทางด้านทิศเหนือ มุมตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ใกล้ๆ กับตลาดหัวรอ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา พระราชวังจันทรเกษมหรือวังหน้า ปรากฏหลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ประมาณ พ.ศ. 2120 โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ คือ
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- สมเด็จพระเอกาทศรถ
- เจ้าฟ้าสุทัศน์
- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ)
- สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
- สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
- กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์
ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 พระราชวังจันทรเกษมได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการบูรณะและปรับปรุงพระราชวังจันทรเกษมขึ้นใหม่ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และโปรดพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2436
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชวังจันทรเกษม ให้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า โดยใช้พระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งเป็นหมู่ตึกกลางของพระราชวังเป็นที่ตั้ง
จนกระทั่งเมื่อ พระยาโบราณราชธานินทร์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า จึงได้จัดสร้างอาคารที่ทำการภาคบริเวณกำแพงทางด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาคในขณะนั้น
สถาปัตยกรรมพระราชวังจันทรเกษม
สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นจึงมีการใช้งานกันเรื่อยมา ทั้งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และที่ทำการมณฑลเทศาภิบาล จนกระทั่งในสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการซ่อมแซมและบูรณะอาคารต่างๆ ขึ้นมาอีกครั้ง
1 กำแพงพระราชวัง ปัจจุบันก่อเป็นกำแพงอิฐ มีใบเสมา มีประตูด้านละ 1 ประตู รวม 4 ด้าน แต่เดิมนั้นคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า วังจันทรเกษมมีกำแพง 2 ชั้น เช่นเดียวกับวังหลวง
2 พลับพลาจตุรมุข ตั้งอยู่บริเวณกำแพงด้านหน้าชานของพลับพลา แต่เดิมเป็นซากแนวอาคารก่ออิฐถือปูน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้สร้างอาคารพลับพลาขึ้นในลักษณะอาคารจตุรมุขแฝด เพื่อใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการ และที่ประทับในเวลาเดียวกัน
3 พระที่นั่งพิมานรัตยา มีลักษณะเป็นหมู่ตึกกลางพระราชวัง ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง คือ อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตยา และศาลาเชิญเครื่อง กลุ่มอาคารพระที่นั่งพิมานรัตยานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า ในปี พ.ศ. 2442
4 พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง) มีลักษณะเป็นหอสูง 4 ชั้น บริเวณกำแพงด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งตามแนวรากฐานอาคารเดิม และใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง) สามารถขึ้นชมทิวทัศน์ของ จ. พระนครศรีอยุธยาได้
5 ตึกโรงม้าพระที่นั่ง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
6 อาคารสโมสรเสือป่า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บริเวณกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันออก
7 ตึกที่ทำการภาค (อาคารมหาดไทย) สร้างขึ้นในสมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว สร้างขนานไปกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้
8 ระเบียงจัดตั้งศิลาจำหลัก แต่เดิมสร้างเป็นระเบียงหลังคามุงสังกะสี ยาวไปตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ใช้สำหรับเป็นที่เก็บรักษาบรรดาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์รวบรวมไว้
ในระหว่างที่พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้รับราชการดำรงตำแห่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ท่านได้ทำการศึกษาและรวบรามเรื่องราว รวมทั้งวัตถุสิ่งของสำคัญในบริเวณกรุงเก่าและบริเวณใกล้เคียงไว้เป็นจำนวนมาก มาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2445 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแนะนำให้พระยาโบราณราชธานินทร์ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เรียกว่า โบราณพิพิธภัณฑ์ โดยในระยะแรกนั้น ใช้ตึกโรงม้าพระที่นั่งเป็นที่เก็บรวมรวม ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุต่างๆ จากโรงม้าพระที่นั่งเข้ามาเก็บรักษา และตั้งแสดงที่บริเวณอาคารพลับพลาจตุรมุข พร้อมทั้งจัดสร้างระเบียงตามแนวอาคารด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก เพื่อจัดตั้งวัตถุ ศิลาจารึก และประติมากรรมต่างๆ จากนั้นจึงตั้งชื่อว่า อยุธยาพิพิธภัณฑ์
ในปีพุทธศักราช 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสยุโรป เมื่อเสด็จถึงเมืองฮอมเบิค ประเทศเยอรมนี ก็ทรงมีโทรเลขมาถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า "มิวเซียมที่นี่เหมือนมิวเซียมที่กรุงเก่า" ด้วยเหตุนี้เอง อยุธยาพิพิธภัณฑ์ในขณะนั้น จึงเป็นที่รู้จักในบรรดาผู้สนใจและรักในงานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของชาติ
ต่อมา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2479 กรมศิลปากร ได้ประกาศให้อยุธยาพิพิธภัณฑ์เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในนาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
การจัดแสดง..
ในปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในพระที่นั่งและอาคารต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. พลับพลาจตุรมุข เป็นอาคารจัดแสดงหลังที่ 1 จัดแสดงเป็นห้องที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่มีอยู่เดิมภายในพระราชวังแห่งนี้ ได้แก่ พระแท่นบรรทม พระราชอาสน์พร้อมเศวตฉัตร พระบรมฉายาลักษณ์ และเครื่องราชูปโภคต่างๆ ที่หาชมได้ยาก นอกจากนี้ ยังจัดแสดงเรื่องราวและรูปภาพประวัติความเป็นมาของพระราชวังจันทรเกษมไว้ด้วยเช่นกัน
2. พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นอาคารจัดแสดงหลังที่ 2 จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุสมัยต่างๆ ที่เก็บรวบรวมโดยพระยาโบราณราชธานินทร์ ได้แก่ ประติมากรรมที่สลักจากศิลาเป็นเทวรูปและพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปสมัยลพบุรี กลุ่มพระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยาที่พบจากพระอังสะพระมงคลบพิตร และพระพุทธรูปทรงเครื่องในสมัยอยุธยาตอนปลายที่มีความวิจิตรงดงาม รวมทั้งพระพิมพ์แบบต่างๆ ที่พบจากกรุวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องไม้แกะสลักฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย และรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ประณีตงดงามอีกหลายชิ้นจัดแสดงรวมอยู่ด้วย
3. อาคารที่ทำการภาค เป็นอาคารจัดแสดงหลังที่ 3 สร้างขึ้นในสมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาบาลมณฑลกรุงเก่า มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว สร้างขนานไปกับแนวกำแพงด้านทิศตะวัตตกต่อกับทิศใต้ จัดนิทรรศการถาวร 5 เรื่อง คือ
3.1 ศิลปะสถาปัตยกรรมอยุธยา จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุที่เป็นประติมากรรมที่ใช้ประดับศาสนสถาน และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมแบบต่างๆ อาทิเช่น ลวดลายปูนปั้น กระเบื้องมุงหลังคา ยอดนภศูล ใบเสมาและสถาปัตยกรรมจำลอง ได้แก่ สถูป เจดีย์ ปรางค์ เป็นต้น
3.2 เครื่องปั้นดินเผา สินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญของอยุธยา จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผา ทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบ ที่ผลิตจากที่ต่างๆ เพื่อส่งเป็นสินค้าออกของไทย และเครื่องถ้วยจากต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ที่เป็นสินค้านำเข้าที่สำคัญในสมัยอยุธยา การค้าเครื่องปั้นดินเผาหรือเครื่องถ้วยต่างๆ เหล่านี้ นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อยุธยาเป็นศูนย์กลางทางการค้า และเป็นเมืองท่าที่สำคัญ โบราณวัตถุที่สำคัญภายในห้องนี้ได้แก่ โถน้ำมนต์ลายครามสมัยราชวงศ์หยวนของจีน อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 - 20
3.3 อาวุธยุทธภัณฑ์ จัดแสดงอาวุธสงครามสมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์ ได้แก่ ปืนใหญ่สมัยอยุธยา ลูกกระสุนปืนใหญ่ชนิดต่างๆ ปืนคาบศิลา ปืนก้องไพร ปืนใหญ่หลังช้าง และเครื่องใช้ของทหารอาสาไทยที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1
3.4 ศิลปวัตถุพุทธบูชา จัดแสดงศิลปวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาในพระพุทธศาสนา อาทิเช่น รอยพระพุทธบาท ตาลปัตร ระฆัง ขันสาคร เครื่องใช้ประดับมุก เครื่องทองเหลือง และตู้พระธรรมสมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์ตอนต้น
3.5 วิถีชีวิตชาวกรุงเก่ากับสายน้ำ จัดแสดงศิลปะโบราณ อาทิเช่น โขนเรือม้า เก๋งเรือ เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีพ ภาพวาดริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยอยุธยา ที่วาดโดยชาวตะวันตก และแบบจำลองสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนริมฝั่งน้ำในพระนครศรีอยุธยา เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยามีสายน้ำเป็นตัวกำหนด สภาพสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น